องค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า

Phrachao Subdistrict Administrative Organization

นโยบายนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า


ออนไลน์ : 3

หัวข้อ :: นโยบายนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า

นโยบายนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า
แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า
เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565
                 
นโยบายการพัฒนาของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า
1. นโยบายด้านการเมืองและการบริหาร
การพัฒนาการเมืองและการบริหาร เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจาอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การเงิน การคลัง การบริหารงานบุคคล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามภารกิจที่เพิ่มขึ้นขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนการเสริมสร้างจิตสำนึกของพนักงาน เจ้าหน้าที่ และพนักงานจ้างในการบริการประชาชน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและเกิดความพึงพอใจ ดังนี้
1.1 พัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้าให้เป็นองค์กรธรรมาภิบาล ที่มีหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี และเป็นหน่วยบริการสังคมที่ดี มีมาตรฐานด้วยการส่งเสริม สร้างความร่วมมือ ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับแก่สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานและพนักงานจ้าง ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลอันสำคัญของตำบลพระเจ้า พร้อมทั้งสร้างเสริมกระบวนการพัฒนาระบบการบริการสาธารณะที่ดีมีมาตรฐาน สร้างความสะดวกลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน สร้างบุคลากรให้มีคุณภาพและมีจิตสำนึกที่ดีในการให้บริการ เพื่อรองรับการบริการแต่ละด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
1.2 ส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรชุมชนและคณะกรรมการชุมชน ที่ดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ โดยชุมชนและเพื่อชุมชน รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อพัฒนาการยกระดับการขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางตำบลน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน
1.3 ส่งเสริมการสนับสนุนการประสานงานเพื่อก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายการทำงานสนับสนุนระบบรัฐบาลดิจิทัล ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น และพื้นที่อื่นๆ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน
1.4 เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและพัฒนารายได้ พัฒนาระบบแผนที่ภาษีและทรัพย์สินให้มีความทั่วถึงเป็นธรรม รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามครรลองระบอบประชาธิปไตย
1.5 ให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน ป.ป.ช. ในการเสริมสร้าง และส่งเสริมความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า ตามหลักเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ ให้มีคะแนนประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
2. นโยบายการพัฒนาสังคม
                   พัฒนาศักยภาพของประชาชนในตำบล ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้
                   2.1 รณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมการสร้างวินัย และจิตสาธารณะของคนในสังคม
2.2 ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกแก่การดำเนินงานด้านสวัสดิการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือและได้รับการบริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการด้านการกีฬาและลานกีฬาหมู่บ้านเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สนับสนุนให้มีการแข่งขันกีฬาเพื่อก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีและปลูกฝังค่านิยมที่ดีต่อการกีฬา
2.4 ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดเสริมสร้างความเข้มแข็งความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สถาบันครอบครัว
2.5 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่สอดคล้องกับทิศทางของการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวม และการสร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุข มีความเป็นสังคมน่าอยู่ ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
3. นโยบายการพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม
                   การส่งเสริมและสนับสนุนการปกิบัติงานด้านการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ อันเป็นเงื่อนไขไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ให้กับประชาชนและฝึกอบรมได้ตลอดชีวิต และมีปัญญาเป็นทุนไว้สร้างงานและสร้างรายได้ และนำพาท้องถิ่นให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม โดยยึดหลักการศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงาน ตลอดจนการส่งเสริม สนับสนุนด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ดังนี้
                   3.1 สนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน เน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเที่ยงธรรมในการบริหารจัดการการศึกษาทุกประเภท
                   3.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกาที่ทันสมัย ทันโลกทันเหตุการณ์
                   3.3 สนันสนุน ส่งเสริม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น พัฒนาแหล่งวัฒนธรรม ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งรายได้ของประชาชนในพื้นที่
4. นโยบายพัฒนาสาธารณสุขและส่งเสริมคุณภาพชีวิต
                   สุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านสุขภาพ ตามนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางและกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ นับแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ได้ระบาดรุนแรงทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ในปี พ.ศ.2564 ส่วนกลางได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์ LQ  สถานที่กักกันโรคฯ และศูนย์พักคอยเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส      โคโรนา 2019 (โควิด-19)  จนสามารถคลี่คลายวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้  แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ ดังนั้น การช่วยรณรงค์ให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านสุขภาพอนามัย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ ดังนี้
                   4.1 เสริมสร้างการดำเนินกิจการด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยประประชาชนเพื่อประชาชน
                   4.2 ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน และการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม
                   4.3 สนับสนุนการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ โดยการสร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมและดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
                   4.4 ส่งเสริม สนับสนุนงานสุขภาพอนามัย และการจัดการสุขภาวะภาคประชาชน โดยผ่านกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
                   4.5 ส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมที่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
5. นโยบายพัฒนาทางเศรษฐกิจ
                   ในสภาวการณ์ปัจจุบันซึ่งเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจ การส่งเสริม การพัฒนาทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นเป็นการสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพของกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนี้
                   5.1 สนับสนุน ส่งเสริมกลุ่มอาชีพให้เติบโตและเข้มแข็งเพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของท้องถิ่นและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากระบวนการสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน ขยายเครือข่าย โดยจัดหาแหล่งรองรับสินค้าหรือตลาดส่งออกสินค้าของกลุ่มอาชีพ
                   5.2 สนับสนุน ส่งเสริมด้านการเกษตร กระบวนการเรียนรู้ภาคการเกษตรอุตสาหกรรม การเกษตรควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เกษตรอินทรีย์
                   5.3 สร้างรายได้ และลดรายจ่ายในครัเรือน ส่งเสริม สนับสนุน ขยายเครือข่าย เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่
                   5.4 ส่งเสริมกิจกรรมที่สอดคล้องตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
6. นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
                   พัฒนาโครงสร้างและสภาพแวดล้อมของตำบลเพื่อส่งเสริมศักยภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ ดังนี้
                   6.1 พัฒนาระบบการก่อสร้าง ปรับปรุง บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่างๆ การขยายเขตไฟฟ้าและติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนใช้ตามความเหมาะสม
                   6.2 เสริมสร้างมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชน ให้มีและบำรุงระบายน้ำโดยการก่อสร้างและปรับปรุงท่อระบายน้ำ รางระบายน้ำรวมถึงระบบระบายน้ำเพื่อแก้ขปัญหาน้ำท่วมขังอย่างเป็นระบบ
                   6.3 ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับประชาชนได้อุปโภค บริโภค โดยการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
7. นโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                   จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการดำรงชีวิตเพื่อเอื้ออำนวยต่อความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา เพื่อยกระดับคุณภาพและสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้
                   7.1 รณรงค์ ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกสาธารณะทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน และชุมชน
                   7.2 สนับสนุน ส่งเสริมให้แก่ชุมชนมุ่งรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน และสถานที่ต่างๆในตำบลให้เป็นเมืองน่าอยู่
                   7.3 ส่งเสริมสนับสนุนการเฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการจัดทำโครงการและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งไปสู่การลดสภาวะโลกร้อน
                   7.4 ส่งเสริม สนับสนุนโครงการ/กิจกรรมการแยกขยะต้นทาง เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สรุปนโยบายนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า
1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการให้ได้มาตรฐานและเพียงพอกับความ
    ต้องการของประชาชนตามศักยภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล
2. สร้างระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขภัยแล้งอย่างถาวร
3. ส่งเสริมให้ประชาชนมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน
    แก้ไขปัญหาความยากจน พร้อมกับการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตควบคู่กัน
4. พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น
5. ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
6. พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ของหมู่บ้าน โดยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย
    มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้มีระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
7. พัฒนาและส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในด้านการเมืองการบริหาร และการปกครองให้กับ ประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการดำเนินการระหว่างภาครัฐกับประชาชนในรูปแบบต่างๆ
8. พัฒนาประสิทธิภาพ เพิ่มบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลในงานด้านสังคมสงเคราะห์
9. ฟื้นฟู อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี ให้คงอยู่คู่ท้องถิ่นและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว
10. ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
11. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยเน้นหลักธรรมาภิบาล
12. ช่วยเหลือประชาชน ควบคุมป้องกันโรคติดต่อตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมายจัดตั้ง
 13. พัฒนาระบบการให้บริการขององค์กรเข้าสู่ระบบออนไลน์ ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาที่
       สำนักงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19
แผนงานการดำเนินการตามนโยบายการบริหารงาน
1. พัฒนาปรับปรุงงานบริการประชาชน
2. สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
3. การศึกษา การสาธารณสุข
4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
5. ยึดแผนพัฒนาท้องถิ่นห้าปีและแผนพัฒนาประจำปีเป็นหลักและอาจเปลี่ยนตามความเหมาะสมสำหรับขั้นตอนการดำเนินงานให้เป็นไปตามความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสถานการณ์ปัจจุบัน
           ดังนั้น การดำเนินงานในแต่ละภารกิจ แต่ละโครงการสามารถเดินหน้าเป็นไปตามนโยบายที่มีอยู่ทั้ง 7 ข้อนั้น จึงมีปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน ที่จะต้องเข้ามาช่วยกันเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง การแก้ไขปัญหาในตำบลพระเจ้าและการดำเนินงานตามนโยบาย ที่กระผมได้แถลงต่อสภาฯ ไปแล้วนั้น ก็จะบังเกิดผลได้ในทางปฏิบัติหรือสัมฤทธิ์ผลได้ง่าย ทั้งนี้ก็ด้วยความรู้ ความเข้าใจภารกิจ ทิศทางและเป้าหมายขององค์กรความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับภายในองค์การบริหารส่วนตำบล อันได้แก่สมาชิกสภาฯทุกท่าน ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และการหนุนเสริมจากองค์กรภายนอก และส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนชุมชน พี่น้องประชาชน
                   กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาอย่างจริงจังนั้น จะส่งผลลัพท์ต่อสังคมที่ดีและมาตรฐานได้ กระผมขอให้ความเชื่อมั่นต่อสภาฯ แห่งนี้ว่า จะบริหารงานด้วยความถูกต้อง สุจริต ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เลือกปฏิบัติ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน และมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารงานในองค์การบริหารส่วนตำบลพระเจ้า ให้มีความเจริญก้าวหน้า และสร้างความทัดเทียมให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยจะยึดประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก กระผมมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำนโยบายที่ได้แถลงในวันนี้ไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ กระผมขอจบการแถลงนโยบายไว้เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

 
 
***********************************************
วันที่ : 22 พฤศจิกายน 2562   View : 678